Tukhachevsky, Mikhail Nikolayevich (1893–1937)

จอมพล มีฮาอิล นีโคลาเยวิช ตูฮาเชฟสกี (พ.ศ. ๒๔๓๖–๒๔๘๐)

 มีฮาอิล นีโคลาเยวิช ตูฮาเชฟสกี เป็นจอมพลแห่งสหภาพโซเวียต เขาเริ่มสร้างชื่อเสียงให้ตนเองเป็นที่รู้จักในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* โดยสามารถยึดคืนพื้นที่ส่วนใหญ่ในไซบีเรียที่พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* ผู้บัญชาการของกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวยึดครอง และโจมตีกองทัพคอลชาคให้ถอยร่นออกไปจากภูมิภาควอลกา (Volga) ตูฮาเชฟสกียังนำกองกำลังคอสแซค (Cossack)* ต่อต้านกองทัพรัสเซียใต้ (Armed Forces of South Russia) ของพลเอก อันตอน อีวาโนวิช เดนีกิน (Anton Ivanovich Denikin)* จนกองทัพเดนีกินถูกตีแตกยับเยินและถอยหนีไปทางแถบไครเมียความพ่ายแพ้ดังกล่าวทำให้เดนีกินตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และมอบอำนาจให้นายพลปิออตร์ นีโคลาเยวิช รันเกล (Pyotr Nikolayevich Wrangel)* หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ตูฮาเชฟสกีก้าวหน้าในหน้าที่การงานและมีบทบาทต่าง ๆ มากขึ้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕–๑๙๒๘ ได้เป็นเสนาธิการทหารของกองทัพแดง (Red Army)* เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงครามและนาวี (ค.ศ. ๑๙๓๑–๑๙๓๗) และใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เป็นจอมพลอย่างไรก็ตาม ตูฮาเชฟสกีมีความคิดเห็นขัดแย้งกับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปกองทัพ ในเวลาต่อมาสตาลินจึงหาทางกำจัดเขา ตูฮาเชฟสกีจึงตกเป็นเหยื่อทางการเมืองในช่วงการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘

 ตูฮาเชฟสกีเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๓ ในครอบครัวเจ้าที่ดินชนบทซึ่งมีเชื้อสายขุนนางที่คฤหาสน์อะเล็กซานดรอฟสกี (Alexandrovsky) ใกล้สถานีรถไฟสโมเลนสค์-เวียซมา (Smolensk-Vyazma) ที่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๒๔๐ กิโลเมตร เขาเป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้องชายหญิง ๙ คน มีฮาอิล (Mikhail) บิดาเป็นคนหัวก้าวหน้า ชอบสะสมหนังสือและเล่นดนตรี งานอดิเรกของเขาคือการทำไวโอลิน และมีฮาอิลจะสอนบุตรทุกคนให้เล่นดนตรี ตูฮาเชฟสกีและน้องชายเลือกเล่นเปียโนในขณะที่พี่น้องคนอื่น ๆ เล่นไวโอลินและเชลโล ส่วนมัฟรา มีโลฮาวา (Mavra Milokhava) มารดามาจากครอบครัวชาวนาที่ยากจน และทำงานเป็นคนรับใช้ในคฤหาสน์อะเล็กซานดรอฟสกี เธอและนายหนุ่มต้องตาต้องใจกันและแน่วแน่ในความรักจนสามารถแต่งงานกันได้ในที่สุด ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ขณะที่ตูฮาเชฟสกีอายุได้ ๑๑ ปี ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินและมีหนี้สินจนต้องขายคฤหาสน์ และอพยพไปอยู่ที่เมืองเบนซา (Benza) ตูฮาเชฟสกีซึ่งเป็นเด็กฉลาดและเรียนเก่งสำเร็จการศึกษาระดับต้นด้วยคะแนนดีเยี่ยมใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ในปีเดียวกันนั้น ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่กรุงมอสโก เขาจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมมอสโกและสำเร็จการศึกษาภายในเวลา ๒ ปี ด้วยคะแนนดีเยี่ยมครอบครัวต้องการให้เขาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตและคาดหวังว่าเขาอาจเป็นนักดนตรีหรือรับราชการ แต่ตูฮาเชฟสกีซึ่งตระหนักเรื่องปัญหาการเงินของครอบครัวและด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดตัดสินใจที่จะศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร การตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลอย่างมากต่อชีวิตเขาในวันข้างหน้า

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เขาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารแคเทอรีนที่ ๒ แห่งมอสโก (Catherine II Moscow Cadet) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงซึ่งมีหลักประกันว่านักเรียนที่สอบเข้าได้ทุกคน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะสามารถเข้าสถาบันการศึกษาทางทหารที่มีชื่อเสียงแห่งใดแห่งหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียได้ง่าย ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๒ตูฮาเชฟสกีเข้าศึกษาต่อระดับสูงที่วิทยาลัยทหารอะเล็กซานดรอฟสกี (Alexandrovsky Military College) ในกรุงมอสโก เขาได้วาเลนติน เวเรซอฟสกี (Valentin Verezovsky) นักประวัติศาสตร์การทหารที่มีชื่อเสียงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เวเรซอฟสกีทำให้ตูฮาเชฟสกีค้นพบความสนใจของตนเองเรื่องความคิดทางทหาร และชี้แนะให้เขาสนใจภาษาต่างประเทศเขาจึงเรียนภาษาเยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศสจนแตกฉานและมักใช้เวลาว่างอ่านหนังสือในห้องสมุดเกี่ยวกับความคิดของนายทหารและนักการทหารที่มีชื่อเสียงชาติต่างๆตูฮาเชฟสกีสำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ด้วยคะแนนเกียรตินิยม

 หลังสำเร็จการศึกษา ตูฮาเชฟสกีเข้าสังกัดกรมทหารป้องกันเซเมียนอฟสกี (Semyenovsky Guards Regiment)และติดยศร้อยโทเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้น เขาถูกส่งไปยังแนวรบด้านปรัสเซียและปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญจนได้รับเหรียญกล้าหาญถึง ๖ เหรียญ ภายในเวลาไม่ถึงปี ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ค.ศ. ๑๙๑๕หน่วยทหารของเขาซึ่งปิดล้อมเมืองลอมซา-คอลโน (Lomza-Kolno) ถูกกองทัพเยอรมันโจมตีและตัดขาดจากกองทัพรัสเซียตูฮาเชฟสกีซึ่งพยายามนำทหารตีฝ่าการปิดล้อมถูกกระสุนได้รับบาดเจ็บและถูกจับเป็นเชลย เขาถูกนำไปขังที่ค่ายเชลยที่เมืองอินกอลชตัดท์ (Ingolstadt) และอยู่ห้องขังเดียวกันกับชาร์ล อองเดร โชแซฟ มารี เดอ โกล (Charles André Joseph Marie de Gaulle)* นายทหารฝรั่งเศส ทั้งตูฮาเชฟสกีและเดอ โกล พยายามหลบหนีหลายครั้งแต่ล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ในการหลบหนีครั้งที่ ๕ ตูฮาเชฟสกีหนีข้ามพรมแดนสวิตเซอร์แลนด์-เยอรมนี กลับเข้ารัสเซียได้สำเร็จในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ส่วนเดอ โกล พยายามหนีถึง ๗ ครั้ง แต่ล้มเหลวและได้รับอิสรภาพหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง การมีโอกาสรู้จักกับเดอ โกล ในช่วงระหว่างสงครามกลายเป็นประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามตูฮาเชฟสกีใช้กล่าวหาเขาในเวลาต่อมาว่าเขาเป็นจารชนให้ทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี

 เมื่อตูฮาเชฟสกีในวัย ๒๔ ปีกลับมาถึงรัสเซียนอกจากบิดา น้องชายและน้องสาวอีก๓คนได้เสียชีวิตในช่วงระหว่างสงครามแล้ว เขายังพบว่ารัสเซียกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ด้วย ขณะเดียวกันมารดาก็ขอให้เขากลับไปกรุงเปโตรกราด (Petrograd) และเข้าสังกัดกองทัพตามเดิม ตูฮาเชฟสกีจึงไปรายงานตัวกลับเข้าประจำการกรมทหารป้องกันเซเมียนอฟสกี และคอยติดตามสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีและฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* การถอนตัวออกจากสงครามของรัสเซียทำให้ประเทศสัมพันธมิตรตะวันตกหวาดวิตกว่าเยอรมนีจะโหมบุกแนวรบด้านตะวันตก ประเทศสัมพันธมิตรจึงตัดสินใจเข้าแทรกแซงรัสเซียและสนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลโซเวียตซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและนาวี (People’s Commissar for War and Navy) จึงเร่งปรับปรุงกองทัพแดงให้เข้มแข็ง ตรอตสกีเรียกร้องให้นายทหารจากกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย(Imperial Russian Army) ซึ่งถูกยุบให้เข้าร่วมในกองทัพแดงโดยมีสถานภาพเป็น “ผู้เชี่ยวชาญทางทหาร” เพื่อฝึกอบรมทหารเกณฑ์ที่เป็นกรรมกรและชาวนา ตูฮาเชฟสกีจึงเข้าร่วมทำงานกับตรอตสกี และในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ในต้นปีเดียวกันเขาแต่งงานกับมารูเซีย อิกนาตีวา (Marusia Ignativa) บุตรสาวของวิศวกรซึ่งเขาพบรักที่กรุงเปโตรกราดใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ทั้งสองมีบุตรสาว ๑ คน

 ในช่วงสงครามกลางเมือง ตูฮาเชฟสกีรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพแดงในการป้องกันกรุงมอสโกและสามารถสกัดการบุกของกองทัพรัสเซียใต้ไม่ให้เคลื่อนกำลังโจมตีกรุงมอสโกได้สำเร็จ ตรอตสกีจึงแต่งตั้งเขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ ๕ ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ และให้สนธิกำลังกับกองร้อยทหารม้าที่มีคอนสตันติน คอนสตันติโนวิช โรคอสซอฟสกี (Konstantin Konstantinovich Rokossovsky)* เป็นผู้บัญชาการเพื่อสกัดกั้นกองทัพรัสเซียขาวที่มีนายพลคอลชาคเป็นผู้นำไม่ให้รุกคืบหน้าจากไซบีเรียตอนกลางเข้าสู่บริเวณภูมิภาคยูรัลได้ ตูฮาเชฟสกีเน้นการโจมตีด้านปีกของกองทัพศัตรูซึ่งมักเปิดกว้างและไม่เข้มแข็งทั้งระดมกำลังบุกติดตามกองทัพที่แตกพ่าย กองทัพคอลชาคซึ่งไม่สามารถติดต่อและประสานการรบกับกองทัพรัสเซียใต้ได้จึงเพลี่ยงพล้ำและถอยหนีจนไม่มีโอกาสเป็นฝ่ายมีชัยชนะอีกต่อไป ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพของตูฮาเชฟสกียังบุกโจมตีกองทัพรัสเซียใต้ของเดนีกินในไครเมียจนฝ่ายรัสเซียขาวจนมุมที่เมืองท่าโนโวรอสซีสค์ (Novorossiysk) บนฝั่งทะเลดำ เดนีกินจึงถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพรัสเซียขาว และนายพลรันเกลได้ดำรงตำแหน่งสืบแทนความพ่ายแพ้ทั้งของฝ่ายคอลชาคและเดนีกินมีส่วนทำให้ในเวลาต่อมาฝ่ายสัมพันธมิตรถอนตัวจากการแทรกแซงในรัสเซียซึ่งมีส่วนทำให้สงครามกลางเมืองรัสเซียสิ้นสุดลง

 ในระหว่างสงครามกลางเมือง มารูเซียภรรยาของตูฮาเชฟสกีเดินทางไปเยี่ยมเขาที่แนวหน้า เธอถูกจับได้ว่าขโมยอาหารของกองทัพ และเพื่อรักษาเกียรติยศของสามี เธอยิงตัวตาย อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามีหลักฐานใหม่ที่ระบุว่าเธอพบว่าตูฮาเชฟสกีนอกใจและด้วยความช้ำใจ เธอปลิดชีวิตตนเอง มรณกรรมของเธอจึงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War ค.ศ. ๑๙๒๐)* หรือสงครามโปแลนด์-บอลเชวิค (Polish-Bolshevik War) ตูฮาเชฟสกีซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการแนวรบด้านใต้ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังมาแนวรบด้านตะวันตกเพื่อสกัดกั้นการบุกของกองทัพโปลที่มีนายพลยูเซฟ ปีลซุดสกี (Jozef Pilsudski)* เป็นผู้นำ เขาเปิดฉากการรบด้วยการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่ใส่ใจว่ากองหนุนจะติดตามทันหรือไม่ทั้งไม่ใส่ใจว่าในการตีโต้ตลอดแนวรบจะทำให้สูญเสียมากน้อยเพียงใด แม้กองทัพแดงจะสามารถขับไล่กองทัพโปลออกจากยูเครนและไบโลรัสเซียได้สำเร็จและรุกคืบหน้าไปจนเกือบใกล้ประชิดกรุงวอร์ซอ แต่ยุทธวิธีรบที่มุ่งมั่นและทุ่มกำลังของเขาก็นำมาซึ่งการสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมากทั้งสะท้อนถึงความไม่รอบคอบของแผนปฏิบัติการอย่างไรก็ตาม กองทัพแดงก็มีชัยชนะเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารและความไม่เป็นเอกภาพในการประสานงานรบระหว่างกองทัพแดงในแนวรบเหนือและใต้กอปรกับการประเมินกองทัพโปลต่ำทำให้เกิดช่องโหว่ในการปฏิบัติการรบ กองทัพโปลซึ่งอังกฤษและฝรั่งเศสหนุนช่วยสามารถตั้งรับและเริ่มเป็นฝ่ายรุกจนกองทัพแดงพ่ายแพ้และต้องล่าถอยออกจากพื้นที่รอบนอกกรุงวอร์ซอ ชัยชนะของกองทัพโปลในยุทธการที่วอร์ซอ (Battle of Warsaw)* หรือที่เรียกกันว่า “ความมหัศจรรย์แห่งวิสตูลา”(Miracleof Vistula) ระหว่างวันที่ ๑๕–๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ทำให้สหภาพโซเวียตต้องเปิดการเจรจาสงบศึกและลงนามยุติสงครามกับโปแลนด์ในสนธิสัญญารีกา (Treaty of Riga)* เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑

 ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๒๑ ตูฮาเชฟสกีได้รับคำสั่งให้นำกองทัพแดงไปปราบปรามกบฏชาวนาที่จังหวัดตัมบอฟ (Tambov) ซึ่งห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ๓๕๐ กิโลเมตร อะเล็กซานเดอร์ อันโตนอฟ (Alexander Antonov) ผู้นำชาวนาที่เคยเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* เคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* ของรัฐบาลโซเวียต ตูฮาเชฟสกีใช้มาตรการจับกุมญาติมิตรและผู้ที่สนับสนุนฝ่ายกบฏเป็นตัวประกันและปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยการใช้แก๊สพิษ เผาหมู่บ้าน และสังหารตัวประกัน ตลอดจนจับกุมและส่งบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* นโยบายรุนแรงดังกล่าวมีส่วนทำให้พลังและความเข้มแข็งของกองทัพชาวนาถูกทำลายลงจนต้องพ่ายแพ้ในที่สุดต่อมา ในเดือนมีนาคม วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำโซเวียตเห็นชอบกับตรอตสกีที่จะให้ตูฮาเซฟสกีไปปราบปรามการลุกฮือของทหารและกะลาสีเรือที่ฐานทัพเรือครอนชตัดท์ที่เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองในเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏครอนชตัดท์ (Kronstadt Revolt)* กองทัพแดงบุกโจมตีครอนชตัดท์อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลาเกือบ ๑ สัปดาห์จนมีชัยชนะ ความสำเร็จของการปราบปรามทั้ง ๒ ครั้งดังกล่าวทำให้ตูฮาเซฟสกีได้รับอิสริยาภรณ์ธงแดง (Order of the Red Banner) ชั้นสูงสุด

 หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ตูฮาเชฟสกีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันทหารกองทัพแดง (Chief of the Red Army Military Academy) เขาเน้นการสร้างและพัฒนากองทัพแดงให้เป็นกองทัพปฏิวัติที่ติดอาวุธทางความคิดด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และนำหลักการ “สงครามชนชั้น” (class warfare) และ “การปฏิวัติจากนอกประเทศ” (revolution from abroad) มาประยุกต์ใช้เป็นอุดมการณ์ของกองทัพทั้งเสนอให้องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* จัดตั้งแผนกทหารทั่วไปขึ้นเพื่อผลักดันการปฏิวัติโลก เขาให้ความเชื่อมั่นว่ากองทัพแดงพร้อมจะสนับสนุนชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่าง ๆ เพื่อโค่นอำนาจชนชั้นปกครองในประเทศ เขาเขียนหนังสือคู่มือทางทหารให้องค์การโคมินเทิร์นเกี่ยวกับการลุกฮือขึ้นสู้ด้วยอาวุธและการเคลื่อนไหวต่อสู้ในเขตเมือง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ตูฮาเชฟสกีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยนายพลมีฮาอิล ฟรุนเซ (Mikhail Frunze) หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและนาวี ทั้งฟรุนเซและตูฮาเชฟสกีมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงกองทัพแดงให้เข้มแข็งและทันสมัย คนทั้งสองร่วมกันเขียนหนังสือสงครามเล่มหนาเรื่อง Future War ซึ่งวิเคราะห์ผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่มีต่อกองทัพและอธิบายลักษณะของสงครามรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า รวมทั้งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีรบแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการรบในสนามเพลาะ การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ เช่น ปืนกล รถถัง เครื่องบิน แก๊สพิษ หนังสือเน้นเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการผลิตอาวุธจำนวนมหาศาลซึ่งรวมทั้งอาวุธเคมีและอาวุธอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้าง กองทัพแดงต้องการหน่วยติดอาวุธเคลื่อนที่ รถยนต์หุ้มเกราะ รถถัง และเครื่องบินจำนวนมาก ซึ่งในขณะนั้นแทบจะไม่มีเลย หนังสือเล่มนี้ซึ่งเผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ทำให้ฟรุนเซและตูฮาเชฟสกีมีชื่อเสียงในฐานะนักยุทธศาสตร์การทหารที่เชี่ยวชาญและใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ฟรุนเซสนับสนุนให้ตูฮาเชฟสกีดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารแทนเขา

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เมื่อสหภาพโซเวียตเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ฉบับแรกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและวางรากฐานเศรษฐกิจสังคมนิยม ดิมีตรี โวโรชิลอฟ (Dmitri Voroshilov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและนาวีคนใหม่ได้นำแนวความคิดของตูฮาเชฟสกีมาประยุกต์ใช้โดยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหาร เช่น อุตสาหกรรมสร้างเครื่องบินและรถถัง ทั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๙ มีการจัดตั้งหน่วยงานการป้องกันแห่งสหภาพโซเวียต (State Defense of the USSR) ขึ้นเพื่อกำหนดจำนวนทหารประจำการที่จะใช้ในการป้องกันประเทศและการเพิ่มศักยภาพในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยให้พอเพียง อย่างไรก็ตาม โวโรชิลอฟมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับตูฮาเชฟสกีเรื่องการปฏิรูปกองทัพและหวาดระแวงว่าตูฮาเชฟสกีเป็นคู่แข่งของเขาทางการทหาร เขาจึงย้ายตูฮาเชฟสกีไปควบคุมเขตทหารเลนินกราด (Leningrad Military District) เพื่อให้ห่างไกลจากศูนย์กลางแห่งอำนาจ และลดบทบาทเขาลงด้วย ตูฮาเชฟสกีจึงมีโอกาสศึกษาค้นคว้างานด้านทฤษฎีทางทหารและทดลองนวัตกรรมใหม่ๆทางทหาร เช่น การจัดตั้งหน่วยพลร่ม ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาพบรักใหม่กับนีนา เยฟเกนีวา (Nina Yevgeniva) บุตรสาวจากตระกูลขุนนางและมีบุตร๑คนแต่ชีวิตคู่ก็ไม่ราบรื่นเพราะตูฮาเชฟสกีมักหมกมุ่นกับงานและไม่มีเวลาให้ครอบครัวจนท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการหย่าร้าง

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ตูฮาเชฟสกีถูกเรียกตัวกลับกรุงมอสโกเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีกองทัพและยุทโธปกรณ์ (Head of the Army’s Technology and Armament Department) การมีโอกาสกลับเข้าสู่ตำแหน่งครั้งนี้เป็นเพราะเซียร์โกออร์ดโจนีคิดเซ (Sergo Ordzhonikidze) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหนัก (Commissariat for Heavy Industry) สหายสนิทของสตาลินเห็นศักยภาพและความสามารถของตูฮาเชฟสกีในการจะปฏิรูปและพัฒนากองทัพแดงให้เข้มแข็งและทันสมัยเขาจึงขอให้สตาลินแต่งตั้งตูฮาเชฟสกีเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิรูปกองทัพตูฮาเชฟสกีวางโครงการปฏิรูปกองทัพด้วยการติดอาวุธและผลักดันการสร้างอุตสาหกรรมผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี และเน้นการผลิตที่จะตอบสนองการทำสงครามเบ็ดเสร็จ (total war) เขายังจัดตั้งกองกำลังทางอากาศขึ้นและสนับสนุนการสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินรบที่มีประสิทธิภาพในการโจมตีและอื่น ๆ นอกจากนี้ เขายังคิดยุทธศาสตร์การรบที่เรียกชื่อว่า “ทฤษฎีปฏิบัติการเจาะลึก” (theory of deep operations) ว่าด้วยการรวมกำลังรบทางบกทั้งหมด บุกโจมตีแนวหลังของข้าศึกโดยเจาะลึกไปตลอดแนวรบจนทำลายปลายขบวนรบของฝ่ายศัตรูให้กระเจิดกระเจิง ยุทธศาสตร์รบดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนทำให้สหภาพโซเวียตมีชัยชนะในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad ค.ศ. ๑๙๔๒)*

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑–๑๙๓๖ กองทัพโซเวียตได้ต้อนรับคณะผู้แทนทางทหารจากเยอรมนี ฝรั่งเศสและอังกฤษหลายครั้ง คณะผู้แทนทหารเหล่านี้ต่างประทับใจความทันสมัยของกองทัพโซเวียตโดยเฉพาะอาวุธยุทธภัณฑ์ใหม่ ๆ ตูฮาเชฟสกีจึงเป็นที่เคารพและชื่นชมกันมากจนสตาลินแต่งตั้งเขาให้เป็นจอมพลเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๕ ในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ตูฮาเชฟสกีในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงครามและนาวีร่วมเดินทางไปกับมัคซิม มัคซีโมวิช ลิวีนอฟ (Maksim Maksimovich Litvinov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนโซเวียตในงานพระราชพิธีพระศพพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V)* แห่งอังกฤษเขามีโอกาสพบปะผู้นำต่างประเทศหลายคนและได้รับเชิญให้ไปเยือนประเทศต่าง ๆ ตลอด ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาเดินทางไปเยือนเยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศสหลายครั้ง และได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้นำทางทหารและนักการเมืองของประเทศที่ไปเยือนซึ่งเห็นว่าเขาเป็นผู้นำทหารรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์กว้างฉลาดเฉลียว และแตกฉานในภาษาต่างประเทศ ทั้งมีความคิดเห็นทางการเมืองที่เฉียบคม ตูฮาเชฟสกีจึงเป็นที่นิยมชมชอบทั้งภายในและนอกประเทศมากขึ้นจนมีส่วนทำให้สตาลินหวาดระแวงและเริ่มเห็นว่าตูฮาเชฟสกีเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่น่าเกรงขามหากกองทัพสนับสนุนเขา

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๔ เซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergei Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของสตาลินถูกลอบสังหารอย่างมีเงื่อนงำสตาลินใช้ข้ออ้างการเสียชีวิตของคีรอฟเป็นเงื่อนไขกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามโดยกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารและนำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่รัฐบาลโซเวียตเข้าควบคุมกองทัพอย่างเด็ดขาดและสั่งให้ทหารทุกคนเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อจะสามารถควบคุมได้ง่าย มีการจับกุมนายทหารที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของพรรคและผู้นำจำนวนมากตูฮาเชฟสกีถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ด้วยข้อหาเป็นจารชนให้ข้อมูลลับทางทหารแก่ฝรั่งเศสและเยอรมนี และทรยศต่อพรรคและผู้นำก่อนหน้าการถูกจับไม่นานนักเขาถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงครามและนาวี และถูกย้ายไปเป็นผู้บัญชาการเขตทหารวอลกาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ทั้งมีคำสั่งในวันเดียวกันยกเลิกการเดินทางของเขาที่จะไปร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VI)* แห่งอังกฤษซึ่งสืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (Edvard VIII)* หลังเกิดวิกฤตการณ์สละราชสมบัติ (Abdication Crisis)* ด้วย จากนั้นไม่นานนักตูฮาเชฟสกีก็ถูกจับและถูกนำตัวกลับมากรุงมอสโกสตาลินให้นิโคไล เยจอฟ (Nikolai Yezhov)* หัวหน้าตำรวจลับไต่สวนตูฮาเชฟสกีด้วยตนเองเขาถูกทรมานและบีบบังคับให้ยอมสารภาพว่าคบคิดวางแผนโค่นสตาลินมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๘ และเป็นจารชนให้เยอรมนีโดยร่วมมือกับนีโคไล บูฮาริน (Nikolai Bukharin)* นักปฏิวัติบอลเชวิคเพื่อยึดอำนาจทางการเมืองทั้งยังมีนายพลอีก ๗ คนร่วมมือด้วย

 ศาลโซเวียตสูงสุดตัดสินให้ดำเนินคดีตูฮาเชฟสกีและจอมพลอีก ๘ คนด้วยข้อหาเป็นจารชนและกบฏในศาลทหารพิเศษทั้งให้รวมพิจารณาคดีกลุ่มตรอตสกีที่ต่อต้านองค์การทางทหารโซเวียต (Trotskyist Anti Soviet Military Organization) เข้าด้วย การพิจารณาคดีมีขึ้นในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๗ ซึ่งห้ามทนายฝ่ายจำเลยเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ทั้งห้ามการอุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ศาลตัดสินว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิดตามข้อหาและให้ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตูฮาเชฟสกีถูกยิงเป้าทันทีก่อนเที่ยงคืนของวันที่ ๑๑ มิถุนายน รวมอายุได้ ๔๔ ปี หลังการพิจารณาคดีครั้งนี้ประมาณว่ามีทหารอีกกว่า ๓๗,๐๐๐ คนถูกกวาดล้างผลกระทบที่สำคัญคือในเวลาต่อมากองทัพแดงขาดแม่ทัพและผู้บัญชาการที่มีความสามารถซึ่งทำให้สหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามครั้งโลกที่ ๒ (Second World War)* ต้องตกเป็นฝ่ายสูญเสียและพ่ายแพ้ในการรบในระยะแรกของการบุกโจมตีจากเยอรมนี

 หลังการประหารชีวิตตูฮาเชฟสกีไม่นานนักครอบครัวของเขาก็ถูกตามล่า ภริยาและน้องชาย ๒ คน ของเขาซึ่งเป็นนักวิชาการประจำโรงเรียนเตรียมทหารถูกจับกุมและคนทั้งสามถูกประหารชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๔๑ มารดาและน้องสาวคนหนึ่งของเขาเสียชีวิตในค่ายกักกันแรงงาน ส่วนน้องสาวอีก ๓ คนรอดชีวิตบุตรสาวของตูฮาเชฟสกีถูกจับและเติบโตในคุกและต่อมาได้รับการปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๕๗ ในต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ มีการปล่อยข่าวลือจากทางการโซเวียตว่าการตัดสินประหารตูฮาเชฟสกีเนื่องจากมีหลักฐานแน่นหนาที่ระบุว่านีโคไล สโคบลิน (Nikolai Skoblin) สายลับโซเวียตที่ซ่อนตัวในองค์การนาซีส่งข้อมูลหลักฐานให้หน่วยตำรวจลับโซเวียต โดยชี้ว่าหน่วยข่าวกรองเยอรมันหรือเอสดี (SD–Sicherheitsdienst)* ที่มีไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน ไฮดริช (Reinhard Tristan Eugen Heydrich)* เป็นหัวหน้า มีข้อมูลเอกสารยืนยันว่าตูฮาเชฟสกีคบคิดกับฝ่ายเสนาธิการทหารเยอรมันเพื่อต่อต้านรัฐบาลโซเวียต ข้อมูลดังกล่าวรั่วไหลไปถึงประธานาธิบดีเอดูวาร์ด เบเนช (Edvard Beneš)* แห่งเชโกสโลวะเกีย และเขาให้ข้อมูลนี้แก่สถานทูตโซเวียตซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญชี้มูลความผิดตูฮาเชฟสกี อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมานักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าความหวาดระแวงของสตาลินต่อตูฮาเชฟสกีซึ่งเป็นนายทหารที่มีอิทธิพลในกองทัพและเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตูฮาเชฟสกีถูกกำจัด

 เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* เริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๖–๑๙๖๒ เพื่อทำลายแนวความคิดและอิทธิพลของลัทธิสตาลิน และนำไปสู่บรรยากาศแห่งเสรีภาพทางความคิดทั้งในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารโซเวียต มีการรื้อฟื้นคดีตูฮาเชฟสกีขึ้นใหม่และในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๗ ทางการโซเวียตประกาศว่าตูฮาเชฟสกีและนายทหารอีก ๗ คนที่ถูกกล่าวหาเป็นจารชนให้เยอรมนีและเป็นกบฏไม่มีความผิดทุกข้อหา บุคคลทั้งหมดได้รับการกู้เกียรติทางสังคมคืน ต่อมา ในสมัยประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ โปลิตบูโรประกาศว่ามีการพบหลักฐานใหม่ในหอจดหมายเหตุสตาลินที่ระบุว่าข้อมูลเรื่องตูฮาเชฟสกีเป็นจารชนให้แก่เยอรมนีเป็นหลักฐานเท็จที่สร้างขึ้นเพื่อกำจัดเขา หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็มีหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงชัดเจนว่า สตาลิน เยจอฟ และลาซาร์ คากาโนวิช (Lazar Kaganovich)* สหายสนิทของสตาลินร่วมมือกันสร้างหลักฐานเท็จเพื่อกวาดล้างตูฮาเชฟสกีและกลุ่มทหารที่ใกล้ชิดเขา.



คำตั้ง
Tukhachevsky, Mikhail Nikolayevich
คำเทียบ
จอมพล มีฮาอิล นีโคลาเยวิช ตูฮาเชฟสกี
คำสำคัญ
- กบฏครอนชตัดท์
- กองทัพแดง
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- คอลชาค, พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์
- คอลชาค, อะเล็กซานเดอร์
- คอสแซค
- คากาโนวิช, ลาซาร์
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- คีรอฟ, เซียร์เกย์ มีโรโนวิช
- โคมินเทิร์น
- เดนีกิน, พลเอก อันตอน อีวาโนวิช
- เดนีกิน, อันตอน อีวาโนวิช
- ตรอตสกี, เลออน
- ตูฮาเชฟสกี, มีฮาอิล นีโคลาเยวิช
- ทฤษฎีปฏิบัติการเจาะลึก
- นาซี
- บอลเชวิค
- บูฮาริน, นีโคไล
- เบเนช, เอดูวาร์ด
- ปีลซุดสกี, ยูเซฟ
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- มหาอำนาจกลาง
- ยุทธการที่วอร์ซอ
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ยูเครน
- เยจอฟ, นิโคไล
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- รันเกล, ปิออตร์ นีโคลาเยวิช
- โรคอสซอฟสกี, คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช
- ลัทธิสตาลิน
- ลิวีนอฟ, มัคซิม มัคซีโมวิช
- เลนิน, วลาดีมีร์
- วิกฤตการณ์สละราชสมบัติ
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามรัสเซีย-โปแลนด์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สนธิสัญญารีกา
- สหภาพโซเวียต
- สากลที่ ๓
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- เอสดี
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1893–1937
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๖–๒๔๘๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-